เนื้อหา ของ พรหมชาลสูตร (เถรวาท)

เนื้อหาหลักของ กล่าวถึง คือศีลอย่างเล็กน้อย หรือจุลศีล ศีลอย่างกลาง หรือมัชฌิมศีล และศีลอย่างใหญ่ หรือมหาศีล จากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงความคิดเห็น หรือทิฏฐิ 62 ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้น คือพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องตั้นของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร (ปุพพันตกัปปิกะ) 18 ประเภท กับพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องต้นสิ่งต่าง ๆ ว่าจะลงสุดท้ายอย่างไร (อปรัตกัปปิกะ) 44 ประเภท รวมเป็น 62 หรือที่เรียว่าทิฏฐิ 62 ประการ[5]

จากนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า สมณพราหมณ์ทุกพวกที่ทิฏฐิความเห็นความเห็นต่าง ๆ รวม 62 ประการเหล่านี้ เพราะอาศัย(ผัสสะ)การสัมผัสถูกต้องด้วยอายตนะสำหรับ 6 อย่าง จึงเกิดเวทนาการเสวยอารมณ์ เพราะเหตุที่มี(เวทนา)เสวยอารมณ์ จึงเกิดตัณหาความทะยานอยาก, เพราะเหตุที่มีความทะยานอยาก จึงมีความยึดมั่นถือมั่น หรือ อุปาทาน, เพราะเหตุที่มีความยึดมั่นถือมั่น จึงมีภพ คือความมีความเป็น, เพราะเหตุที่มีความมีความเป็น จึงมีชาติ คือความเกิด , เพราะเหตุที่มีความเกิด จึงมีความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ (โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมติดอยู่ในข่ายแห่งความเห็นทั้งหกสิบสองนี้เหมือนปลาติดข่ายฉะนั้น ส่วนตถาคตเป็นผู้ถอนตัญหาอันจะนำให้เวียนอยู่ในภพได้แล้ว กายยังดำรงอยู่ตราบใด ก็มีผู้แลเห็นเมื่อกายทำลายไปแล้ว ก็ไม่มีผู้แลเห็น[6]

โดยสรุป คือ ทิฏฐิทั้ง 62 ประการนั้นพวกหนึ่ง เห็นว่า มีตลอดไป เที่ยงนิรันดร (อัตถิตา, สัสสตะ) ส่วนอีกพวกหนึ่ง เห็นว่า ขาดสูญ ไม่นิรันดร (นัตถิตา, อุจเฉทะ หรือ อสสัสตะ ) ขณะที่พุทธศาสนา เป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลางไม่ใช่ทั้งสอง อย่างข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงสอนหลัก "ปฏิจจสมุปบาท" หรือ "อิทัปปัจจยตา" สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นหรือดับไป เพราะมีเงื่อนไข และหมดเงื่อนไข จะชี้ชัดลงไปตายตัวไม่ได้ แล้วแต่เงื่อนไข เช่น ถ้าตอบว่า "เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ (สัสสตะ) ถ้าตอบว่า "ไม่เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ (อุจเฉทะ)[7]